วันพุธที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ลักษณะของไม้ดัดไม้แคระ

ลักษณะ ไม้ดัดเป็นศิลปะประจำชาติไทย เป็นศิลปะการเล่นพันธุ์ไม้ของคนไทยโบราณตั้งแต่ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา การเล่นไม้ดัดแสดงให้เห็นถึงความอุตสาหะพากเพียรพยายามทรงไว้ซึ่งฝีมือและแนวความคิดในงานศิลปะของคนไทย เพราะไม้ดัดจะมีรูปร่างลักษณะถูกต้องตามแบบฉบับการดัดจะต้องใช้ระยะเวลายาวนานไม่น้อยกว่า ๕ หรือ ๑๐ ปี ไม้ดัดไทยที่มีลักษณะงดงามจึงมีอายุถึง ๒๐, ๕๐ ปี บางต้นมีอายุถึง ๑๐๐ ปีก็มี จึงทำให้ไม้ดัดมีค่าสูงเหมือนโบราณวัตถุที่มีค่าสูงชิ้นหนึ่ง ในตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พระมหากษัตริย์ไทย โดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระทัยและโปรดปรานเล่นไม้ดัด ดังปรากฏในพระบรมมหาราชวัง และพระราชวังดุสิต นอกจากนี้ยังมีเจ้านายอีกหลายพระองค์ ทรงเล่นไม้ดัด เช่น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต เจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศ เป็นต้น ส่วนบรรดาพระสงฆ์ไทย ก็มีพระครูประสิทธิ์สมณการวัดจักรวรรดิ์ พระมหาผิว (ศุขะพิศิษฐ์) วัดเทพศิรินทร์ เป็นต้น ถึงแม้ว่าบรรดาท่านเหล่านั้นจะสิ้นชีพแล้วก็ตาม แต่แบบฉบับและผลงานของท่านยังคงอยู่ จนกระทั่งปัจจุบัน และยังเป็นการแสดงความเคารพกตัญญูบรรดาท่านเหล่านั้นที่ทำใหศิลปะไม้ดัดยังตกทอดถึงปัจจุบันนี้ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คุณหลวงมงคลรัตน์ (ช่วง ไกรฤกษ์) ได้เขียนโคลงตำราไม้ดัดไว้และพิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพพระราชสัมภารากร (ชม ไกรฤกษ์) นับว่าเป็นตำราไม้ดัดเล่มแรกและกลายเป็นแม่แบบตำราไม้ดัดมาจนถึงปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น