วันพุธที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ชนิดพันธุ์ของไม้ดัดไม้แคระ

ไม้ดัดไทยแบ่งเป็น ๙ ชนิดคือ ๑. ไม้ขบวน เป็นไม้ดัดที่มีทรงต้นต่ำ ทรงตรงหรือคดเล็กน้อยก็ได้ แล้วตัดกิ่งให้วกเวียนขึ้นไป วนสุดยอด จะดัดให้พลิกแพลงอย่างไรก็ได้ แต่ต้องทำให้ได้ช่องไฟดูพอเหมาะ และแต่งช่อพุ่มใบให้เรียบร้อย นิยมทำ ๙ ช่อ หรือจะมากจะน้อยกว่านี้ก็ได้ เพียงแต่มองแล้วทำให้เกิดความสวยงาม โดยถือรูปทรงที่สวยงามเป็นสำคัญ ไม้ขบวนเป็นชนิดไม้ดัดที่นิยมกันมาก เพราะตกแต่งได้ง่ายกว่าไม้ดัดชนิดอื่น ๒. ไม้ฉาก เป็นไม้ดัดที่มีทรงต้นตรง แล้วดัดให้หักเป็นรูปมุมฉาก สำหรับกิ่งก็ดัดแต่งให้เป็นรูปมุมฉากเช่นกัน ส่วนปลายกิ่ง ก็ปล่อยให้เป็นพุ่มใบ นิยมทำ ๙ ช่อ ไม้ดัดชนิดนี้จะทำเป็นต้นคู่ หรือต้นเดี่ยวในลักษณะรูปทรงแบน หรือลักษณะฉากบังตาก็ได้ ไม้ชนิดนี้ จะดัดให้หุ่นงาม ให้ตัดและทำการปิดขม่อมให้ชิดดินหรือสูงเพียงเล็กน้อย เมื่อกิ่งกระโดง (หมายถึงกิ่งที่แตกออกจากลำต้น) แตกขึ้นจึงเริ่มดัด ไม้ดัดชนิดนี้ นับเป็นไม้ดัดที่งามและดัดยากมากที่สุด ๓. ไม้หกเหียน เป็นไม้ดัดที่มีการตัดแต่งกิ่งให้ย้อนกลับลงมาทางด้านล่างก่อน แล้วค่อยดัด ทำให้กิ่งโค้งงอไปรอบๆ ต้น หรือจะชี้ขึ้นตรงๆ ก็ได้ การดัดทำกิ่งและช่อพุ่มใบ ตามตำราแม่แบบไม้ดัดไทยกำหนดให้ทำกิ่งและช่อ ๑๑ ช่อ จึงจะดูสวยงาม เป็นไม้ดัดที่ดัดยาก ต้องใช้ฝีมือและความวิริยะอุตสาหะ จึงจะทำได้สำเร็จ ๔. ไม้เขน เป็นไม้ดัดที่เน้นความสำคัญของทรงต้น โดยดัดทำโคนต้นให้เป็นปุ่ม เป็นตา ดัดกิ่งท้ายลง คือกิ่งที่ต่ำสุด ดัดลงให้อยู่ตรงข้ามกับกิ่งที่ ๒ และกิ่งยอด โดยกิ่งยอดจะต้องหักเอี้ยวลงมาข้างหลังก่อน แล้วจึงกลับ ๕. ไม้ป่าข้อม เป็นไม้ดัดที่มีทรงต้นตรงขึ้นไปถึงยอด ที่โคนมีปุ่มรอยตัด ดัดแต่งกิ่งรอบๆ ต้นให้วกเวียนขึ้นไป การทำกิ่ง และช่อพุ่มใบรอบๆ ต้น ตามตำราแม่แบบไม้ดัดไทย กำหนดให้ทำ ๓ กิ่ง กิ่งละ ๓ ช่อ รวม ๙ ช่อ ต้องมีช่องไฟงดงามสม่ำเสมอกัน จะทำให้สวยงาม ๖. ไม้ญี่ปุ่น เป็นไม้ดัดที่มีรูปลักษณะคล้ายกับไม้แคระของญี่ปุ่น (Bonzai) เป็นไม้มีหุ่นย่อจากธรรมชาติของต้นไม้ใหญ่ในป่า ซึ่งพยายามปลูกให้ต้นไม้แคระแกร็นลง คือโคนต้นใหญ่ ปลายต้นเรียวซึ่งทรงต้นจะตรงหรือเอน สำหรับกิ่งที่ประกอบทรงต้นก็ดัดแต่งให้กระจายพองาม ไม่มีการตัดแต่งช่อพุ่มใบ ปล่อยให้เป็นไม้แคระตามธรรมชาติ ไม้ดัดชนิดนี้จะปลูกดัดเฉพาะต้นเดี่ยวหรือปลูกดัด ๒ ต้นคู่กันโดยให้ต้นใหญ่ อีกต้นหนึ่งเล็กลดหลั่นกันลงมาก็ได้ ๗. ไม้กำมะลอ คือไม้ดัดที่มีทรงต้นตรงขึ้นไป จะมีกิ่งที่โคนหรือไม่มีก็ได้ กิ่งของไม้ชนิดนี้จะให้ยักเยื้องพิสดารได้เท่าไรก็ยิ่งดี จะมีกิ่งหรือช่อมากน้อยไม่กำหนด ขอให้ดูสวยงามเข้ารูปทรง แต่ส่วนหุ่นจะต้องดัดให้หันหมุนเวียนให้ยอดวกวนชี้ลงล่าง ไม่ว่าจะชี้ลงล่างในรูปลักษณะใดก็ได้ไม้ดัดแบบนี้มีลักษณะตรงข้ามกับไม้ธรรมดาที่มียอดชี้ฟ้าเป็นไม้ที่ไม่เหมือนของจริงจึงเรียกได้ ว่าเป็นไม้กำมะลอ ๘. ไม้ตลก เป็นไม้ดัดที่เหมือนทำให้ตลกให้ดู มี ๒ ลักษณะคือไม้ตลกหัวและไม้ตลกราก ไม้ตลกหัวหรือไม้ตลกหัวโตมีส่วนยอดสุดของลำต้นเป็นก้อนกลุ่ม ยิ่งโตเท่าไรยิ่งดี หรือมีลักษณะลำต้นเป็นกระปุ่มกระป่ำและมีกิ่งช่อน้อย ส่วนไม้ตลกรากต้องมีรากโผล่หรือรากลอยโผล่พ้นดินให้เห็นได้ว่าส่วนใด เป็นรากและส่วนใดเป็นลำต้นเรียกว่าไม้ตลกรากหรือไม้แผลงโคน ไม้ดัดชนิดที่ควรทำตลกหัวและตลก รากในต้นเดียวกันและทำที่ช่อกิ่งเพียงเล็กน้อยจะทำให้สวยงาม ๙. ไม้เอนชาย หรือ เอนชายมอ เป็นไม้ดัดที่มีทรงต้น ลำต้นตรงขึ้นมาแล้วจึงเอนไปด้านข้างคล้ายต้นไม้ริมฝั่งน้ำหรือตามภูเขา ไม่ตั้งตรงเหมือนไม้ธรรมดา มีรากเกาะยึดด้านข้างนำมาดัดแต่งและทำกิ่งช่อ ไม้ดัดชนิดนี้เป็นไม้ที่ปลูกเอนชายประดับกับเขามอ (ภูเขาจำลอง) ปลูกเพื่อร่มเงาหรือล้อรูปเขา มักปลูกด้านหลังของเขามอ ต่อมา ความนิยมก่อเขามอได้เสื่อมไป จึงนำเอาเฉพาะรูปแบบของไม้ที่ปลูกประดับกับเขามอมาดัดทำไม้ดัดคุณลักษณะของพันธุ์ไม้ดัด ในอดีตการเลือกใช้พันธุ์ไม้มาทำเป็นไม้ดัด ต้องคำนึงถึงคุณลักษณะของไม้เป็นสำคัญดังต่อไปนี้ ๑. เป็นพันธุ์ไม้ที่สามารถทำรูปทรงต้น หรือดัดแปลง ตกแต่งได้ง่าย และถูกต้องตามตำราแม่แบบ ๒. เป็นพันธุ์ไม้ที่มีกิ่งเหนียว สามารถดัดให้โค้งงอได้ตามต้องการ ๓. เป็นพันธุ์ไม้ที่มีรูปร่างของใบขนาดเล็ก ดูเหมาะสมกับหุ่นหรือทรงต้น ๔. เป็นพันธุ์ไม้ที่เมื่อนำมาดัดแล้วไม่เปลี่ยนแปลงรูปทรงง่าย ๕. เป็นพันธุ์ไม้ที่ไม่เจริญเติบโตเร็วจนเกินไป จนทำให้เสยรูปทรงง่าย ๖. เป็นพันธุ์ไม้ที่หาง่ายในแต่ละท้องถิ่น ๗. เป็นพันธุ์ไม้ที่มีอายุยืนนานและทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศที่เปลี่ยนแปลง ๘. เป็นพันธุ์ไม้ที่สามารถมีชีวิตคงทนต่อการปลูกเลี้ยงในที่จำกัด (กระถาง) ได้เป็นเวลานานๆ แต่ปัจจุบันไม่สามารถที่จะเลือกหาพันธุ์ไม้ดัดที่มีคุณลักษณะครบทั้ง ๘ ประการได้ แต่ก็พบว่าพันธุ์ไม้ที่สามารถนำมาใช้ทำเป็นไม้ดัดได้ดีก็คือ ตะโก ข่อย มะสัง มะขาม ชา และโมก เป็นต้น ไม้ที่นิยมนำทำไม้ดัดมากที่สุดคือ ตะโก เพราะเป็นไม้เนื้อแข็งและเหนียว มีอายุยืนยาว เปลือกเป็นสีดำ และมีรอยแตกดูสวยงาม มีความทนต่อสภาพแวดล้อมได้ดี ง่ายต่อการบำรุงรักษาและตายยาก พันธุ์ไม้ที่นิยมทำเป็นไม้ดัดรองจากตะโกคือ ไม้ข่อย เพราะเป็นพันธุ์ไม้ที่มีกิ่งอ่อน ดัดให้เข้ารูปทรงได้ง่าย มีความสวยงามและมีอายุยืนนานไม่แพ้ตะโก อีกพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งที่มีความเหมาะสมทำไม้ดัด คือมะขาม เพราะมีลำต้นสวยงาม ใบมีขนาดเล็ก เจริญเติบโตเร็ว แต่มีข้อเสียคือเมื่อดัดแล้ว มักคืนหรือเปลี่ยนรูปทรงได้ง่าย ลักษณะของไม้ดัดไทยที่สมบูรณ์และสวยงามพร้อม ไม่มีหลักยึดตายตัว เพียงแต่ทำให้ได้ไม้ดัดที่มีรูปลักษณะที่ดีที่สุดเท่านั้น และต้องกลบบาดแผลหรือปิดบาดแผล รอยรัดตัดแต่งให้สนิทถ้ากลบบาดแผลหรือรัดรอยแผลไม่สนิทแล้ว แม้จะดัดดีสักปานใดก็ไม่ถือว่าเป็นไม้ดัดที่สมบูรณ์และงามพร้อม ความงามของไม้ดัดที่ควรยึดถือคือ ไม้ดัดดีไม่จำเป็นต้องมีกิ่งมาก ไม้ดัดดีมีกิ่งน้อยก็เปรียบเทียบได้กับการจัดดอกไม้ใส่แจกัน จะดูได้ทั้งดอกและใบซึ่งมีท่าทีที่เสียบลงไปทั้งลักษณะสูงต่ำและดูสวยงาม การแต่งกิ่งหรือการดัดกิ่งไม้ควรหักขึ้น หักลงและพลิกแพลงหรือเฉไฉอย่างมีศิลปะตามแบบฉบับการดัดไม้ไทย การแต่งช่อหรือพุ่มใบไม่ควรดัดจนกลมเป็นลูกแก้ว ควรตัดแต่งอย่างลูกจันทน์แป้นหรือจอกคว่ำจึงจะถือว่างามพร้อม การเล่นไม้ดัด ผู้ดัดต้องอาศัยความพยายาม ความอดทนในการรอคอยและอาศัยความประณีตในการดัดแต่ละกิ่งก้านให้มีลีลางดงามตามใจปรารถนา นอกจากนี้ต้องเป็นผู้รู้จักและเข้าใจธรรมชาติเป็นอย่างดีด้วย ผู้มีวิริยะพร้อม เพลินเพียร เย็นกระมลเนาเนียร เนิ่นแก้ เล่นดัดตัดแต่งเจียน จัดพุ่ม เรือนเฮย โดยประณีตนับแท้ ท่านนั้นจิตเสมอ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น