วันพุธที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2554

แม่แบบของไม้ดัดไทย

แม่แบบของไม้ดัดไทยประเภทต่าง ๆ

     ลักษณะของแม่แบบ หรือต้นแบบของไม้ดัดไทย อาศัยรูปลักษณะโครงสร้างตามธรรมชาติของต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นอยู่ทั่วไป เป็นแนวคิดในการแบ่งแยกประเภทซึ่งแบ่งได้ดังนี้
     ประเภทแรก เป็นไม้ที่ดัดให้เป็นไปตามโคลงศิลปะของไทย ซึ่งดูแล้วจะไม่เหมือนกับต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ ตามโคลงตำราว่าด้วยเรื่องไม้ดัดของหลวงมงคลรัตน์ (ช่วง ไกรฤกษ์) ได้กล่าวไว้ในโคลงว่ามี 7 ชนิดด้วยกัน คือ
                    1. ไม้ขบวน                     2. ไม้ฉาก
                    3. ไม้หกเหียน                 4. ไม้เขน
                    5. ไม้ป่าข้อม                     6. ไม้กำมะลอ
                    7. ไม้ตลก
    
ประเภทที่สอง เป็นไม้ที่ดัดให้ดูเหมือนกับไม้ใหญ่ที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติมี 2 ชนิด คือ
                    1. ไม้ญี่ปุ่น                     2. ไม้เอนชาย
    ไม้ดัดแต่ละชนิด มีลักษณะดังรายละเอียดต่อไปนี้
                           ไม้ขบวนวาดเลี้ยว                วงเวียน ต้นนา
                    ตอต่ำตัดเรือนเจียน                     เรียบร้อย
                    ที่กิ่งชอบใช้เนียน                         สนิทช่อง ไฟแฮ
                    ทรงฟุ่มชิดเชิดช้อย                     ช่องชั้นจังหวะว่าง
    
ไม้ขบวน หรือไม้กระบวน ลักษณะของทรงต้นจะตรง หรือคดเล็กน้อยก็ได้ ต้นต่ำดัดกิ่งให้วกวนเวียนขึ้นไปวนสุดยอด การจะดัดแต่งกิ่งจะไม่กำหนดรูปทรงแน่นอนผู้ดัดจะดัดพลิกแพลงอย่างใดก็ได้ แต่สิ่งสำคัญจะต้องจัดช่อพุ่มใบให้จังหวะช่องไฟดูพอเหมาะพอดีและแต่งให้เรียบร้อย โดยทั่วไปนิยมทำเป็น 9 ช่อ
    ไม้ขบวนสามารถดัดแต่งช่อพุ่มได้ง่ายกว่าไม้ดัดชนิดอื่น ๆ จึงได้รับความนิยมอย่างมาก
                            ฉากแบบโคนทอดน้อย                หนึ่งงาม
                    ที่คดคบขดตาม                                 หักค้อม
                    ตอย่อกิ่งต่อสาม                                 สมแบบ เดิมนอ
                    ต้นชดเค้ากิ่งหย้อม                             อย่าช้าเสียคม
    
ไม้ฉาก ลักษณะทรงต้นจะตรงขึ้นมาดัดหักเป็นรูปมุมฉาก กิ่งก็ดัดแต่งให้เป็นรูปมุมฉากเช่นเดียวกับลำต้น ส่วนปลายกิ่งก็ปล่อยให้เป็นพุ่มใบ นิยมทำพุ่มใบ 9 ช่อ ไม้ดัดฉากนี้จะทำเป็นต้นเดี่ยวหรือต้นคู่ ในลักษณะรูปทรงแบนและฉากบังตาก็ได้
    ไม้ฉากเป็นไม้ดัดที่ดัดมากที่สุด ผู้ที่จะดัดจะต้องเป็นผู้ที่มีฝีมือ และมีความวิริยะ ความอดทนสูงมากจึงจะทำได้
                            หกเหียนเห็ดดัดคู่                     ดัดทับ
                    ตอเผล้เร่เรือนรับ                             ลอดพลิ้ว
                    ที่ยอดทอดทวนทับ                         ทบกิ่ง กลแฮ
                    ดูดุจหมัดมวยงิ้ว                             ผงาดง้ำผงกหงาย
    
ไม้หกเหียน ลักษณะทรงต้นมีการดัดต่างกิ่งให้ย้อนกลับลงมาทางโคนต้นก่อน แล้วจึงดัดทำกิ่งให้โค้งงอขึ้นไปรอบ ๆ ต้น การดัดแต่งกิ่งช่อพุ่มของไม้หกเหียนนี้ ตามตำรากำหนดให้ทำกิ่งและช่อพุ่มจำนวน 11 ช่อ ไม้ดัดชนิดนี้จึงอยู่ในประเภทที่ดัดยาก
                        ไม้เขนเบนกิ่งท้าย                    ทวนลง
                   โคนปุ่มภูต้นตรง                           เกร่อเก้อ
                   ที่ยอดทอดหวนหง เห็ดขด            คู่แฮ
                   ดุจมถคเหลียวชะเง้อ                    ชะโงกเงื้อมมาหลัง
     ไม้เขน ต่างจากไม้ดัดชนิดอื่นตรงที่จะให้ความสำคัญที่ทรงต้น โดยต้นจะต้องมีปุ่มที่โคนและกิ่งต่ำสุดต้องดัดลง ให้อยู่ตรงข้ามกับกิ่งที่ 2 และกิ่งยอดโดยเฉพาะกิ่งยอดต้องหักเอี้ยวลงมาข้างหลังก่อนแล้วจึงดัดวกกลับขึ้น สำหรับกิ่งที่ 2 ดัดให้ได้จังหวะ รับกับกิ่งยอด ไม้เขนนี้นิยมทำกิ่งและช่อพุ่มใบ 3 ช่อ จึงจะดูสวยงาม
                         ป่าข้อมโคนปุ่มต้น                    ตามตรง
                   คบแยกสามกิ่งจง                            จัดเก้า
                   จังหวะระยะวง เวียนรอบ                 กลมแฮ
                   จัดช่องไฟให้เท่า                              ส่วนต้นดัดเรือน
      
ไม้ป่าข้อม ลักษณะทรงต้นตรงขึ้นไปถึงยอด ตรงโคนมีปุ่มรอยตัด การตัดแต่งกิ่งดัดให้วนเวียนรอบ ๆ ต้นขึ้นไป การทำกิ่งและช่อพุ่มกำหนดให้ทำ 3 กิ่ง ๆ ละ 3 ช่อ รวมทั้งต้น 9 ช่อ และต้องจัดทำกิ่งและช่อให้สม่ำเสมอกัน
                        ไม้ญี่ปุ่นรวมทั้ง                    กำมะลอ
                   ตลกรากเอนชายมอ                    มากใช้
                   ท่วงทีที่ขันพอ                          พูมตลก
                   คงกิ่งจังหวะได้                        ช่องพร้อม เรือนเสมอ
     ไม้กำมะลอ ลักษณะทรงต้นตรงขึ้นไป จะมีกิ่งที่โคนหรือไม่มีก็ได้ แต่ส่วนยอดจะต้องดัดให้หันเหหมุนเวียนจากยอดวกวนชี้ลงล่างไม่ว่าจะเป็นลักษณะใดจึงจะสมชื่อกำมะลอ คือไม่ใช่ของจริง
     ฉะนั้นกิ่งยอดจะต้องทำให้หักเหชี้ลงข้างล่างแทนที่จะชี้ขึ้นฟ้าเหมือนทั่ว ๆ ไป และถ้ายิ่งยักเยื้องพิสดารได้มากเท่าไรก็ยิ่งดี จะมีกิ่งและช่อมากน้อยเท่าไรก็ไม่กำหนด ขอให้ดูสวยงามเข้ารูปทรงเท่านั้นเป็นพอ
   
  ไม้ตลก  เป็นไม้ดัดที่ตั้งใจดัดให้ผู้พบเห็นแปลกตาทำนองตลกขบขัน มี 2 ลักษณะคือ ไม้ตลกหัวและไม้ตลกราก
ไม้ตลกหัว จะมีส่วนบนสุดยอดของลำต้นเป็นก้อนกลุ่มยิ่งใหญ่โตเท่าไรยิ่งดี ลักษณะลำต้นจะเป็นกระปุ่มกระป่ำ มีกิ่งมีช่อน้อย
   
  ไม้ตลกราก จะมีรากลอยหรือรากบางส่วนโผล่พื้นดินขึ้นมาดูไม่เรียบร้อย
ไม้ดัดชนิดนี้ ถ้าจะให้สวยงามจริง ๆ ต้องมีทั้งตลกหัวและกลกรากอยู่ในต้นเดียวกันและทำช่อกิ่งเพียงเล็กน้อยจะดูสวยงาม
     
ไม้ญี่ปุ่น ลักษณะเป็นไม้ดัดที่คล้ายกับไม้แคระทรงญี่ปุ่นและวิธีการดัดก็คล้าย ๆ กัน คือทำโคนต้นใหญ่ และบังคับให้แคระแกร็นปลายต้นเรียว ลำต้นจะตรงหรือเอนเล็กน้อยก็ได้ กิ่งและช่อพุ่มดัดแต่งให้กระจายตามรูปทรงไม้ใหญ่ในธรรมชาติ
      ไม้ดัดชนิดนี้จะปลูกติด 2 ต้นคู่ติดกัน โดยให้มีขนาดลดหลั่นกันลงมาหรือจะทำเฉพาะต้นเดี่ยว ก็ได้
      
ไม้เอนชาย หรือเอนชายมอ ลักษณะลำต้นตรงขึ้นมา แล้วเอนออกไปทางด้านข้างดูเหมือนกับต้นไม้ที่ขึ้นตามหน้าผา หรือตามตลิ่งโดยมีรากยึดเกาะด้านข้าง
                                      เก้าชนิดนับชื่ออ้าง ออกนาม           ไม้เฮย
                              โดยบุราณเรียกตาม                              ต่อถ้อย
                             คิดดัดแต่งตัดงาม                                 คงเงื่อน นั้นนา
                             พอประจักษ์นามน้อย                              เนื่องไม้มีเดิม
     ไม้ดัดทั้ง 9 ชนิด ตามโคลงตำราไม้ดัดของหลวงมงคลรัตน์ ที่กล่าวเสนอมานั้น เป็นลักษณะต้นแบบของข่อยดัดของไทยเราโดยแท้ สมควรที่ผู้เล่นไม้ดัดควรยึดถือเป็นแบบอย่าง แต่สำหรับในทางปฏิบัติแล้วการดัดและตกแต่งกิ่งช่อพุ่มอาจดัดยักเยื้องต่างไปบ้างตามรูปทรงต้นตอ แต่ก็อย่าให้ถึงกับเสียรูปทรงจากโคลงตำราเดิมที่กำหนดไว้ ทั้งนี้เพื่อการอนุรักษ์และเชิดชูศิลปะประจำชาติของไทยเราสืบต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น