วันพุธที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2554

การปลูกบอนไซในประเทศไทย

สัปดาห์ก่อนไปเดินร้านหนังสือเก่า พบหนังสือเล่มหนึ่งมีคุณค่าสำหรับชาวนักเล่นไม้บอนไซ เพราะมีเนื้อหาดีมาก ผมเองก็เคยมีเก็บไว้แต่ไม่รู้พรรคพวกกันคนไหนอมไปนานแล้ว หนังสือที่ว่าคือ วารสารบอนไซ 03 –เล่มที่3 ของชมรมบอนไซ (ไม้แคระ)แห่งประเทศไทย ประมาณปี พ.ศ. 2521

ผมจะค่อยๆ นำข้อเขียนในหนังสือเล่มนี้เผยแพร่ให้ท่านผู้สนใจบอนไซได้อ่านกันครับ และขอโอกาสนี้ขออนุญาตท่านผู้จัดทำไว้ ณ ที่นี้ด้วย

ผมจะเริ่มที่ข้อเขียนท่านอาจารย์ รังสฤษฎ์ ทองสวัสด์  การปลูกบอนไซในประเทศไทย ที่มีวิธีการเลี้ยงดูไม้หลักๆ เช่น ตะโก มะสัง ข่อย ไทร โมก ตามลำดับ

 การเลี้ยงไม้แคระในประเทศไทยนั้น ส่วนใหญ่แล้วมักนิยมเลี้ยงบอนไซที่ขุดมาจากป่าเป็นส่วนมาก  เนื่องจากย่นระยะเวลาในการทำเป็นบอนไซได้มากขึ้น พันธุ์ไม้ที่ปลูกกันส่วนมากเป็นพวก ตะโก มะสัง หมากเล็กหมากน้อย  ข่อย ตะแบก มะขามเทศ เกล็ดปลาหมอ อรพิม พุดน้ำ พุดป่า เข็มป่า ฯลฯ

นอกจากนี้แล้วก็เป็นบอนไซที่นำมาจากต่างประเทศ ส่วนต้นไม้เพาะเมล็ด ชำกิ่งหรือตอนกิ่งนั้น นิยมทำเป็นบอนไซกันเป็นส่วนน้อย เนื่องจากต้องอาศัยเวลาในการปลูกเลี้ยงด้วยระยะเวลานานกว่า และมีต้นไม้บางพันธุ์เท่านั้นที่ทำการเพาะเมล็ด ปักชำ ตอนกิ่งได้

บอนไซที่ขุดมาจากป่า เมื่อทำการขุดตุ้มดินแล้ว ก็จำเป็นต้องทำการตัดรากแก้วของต้นไม้นั้นออก ซึ่งเป็นการกระทบกระเทือนต่อต้นไม้ที่ถูกขุดเป็นอย่างมาก ต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาตินั้น จะหยั่งรากแก้วลึกลงไปในดิน และรากฝอยก็แผ่กระจายออกหาอาหารเป็นบริเวณกว้าง เมื่อดินฟ้าอากาศแล้งขึ้นในบางครั้ง  ต้นไม้เหล่านี้ก็ยังคงดำรงชีวิตอยู่ได้ เมื่อนำไม้ป่าเหล่านี้มาปลูกเลี้ยงในกระถางบอนไวซึ่งมีปริมาณดินไม่มากนักก็จะมีผลต่อการเจริญเติบโตของไม้แคระ อาจจะมีการทิ้งกิ่งในบางครั้ง อาจจะหยุดการเจริญเติบโตหรืออาจจะเหี่ยวแห้งตายไปด้วยโรคและแมลงก็เป็นได้ ฉะนั้นในการปลูกเลี้ยงไม้แคระ เริ่มตั้งแต่การพักฟื้นต้นไม้ การปลูกลงในกระถางบอนไซ หรือที่เรียกว่า การเข้ากระถาง ดินปลูก การให้ปุ๋ย การฉีดยาป้องกันโรคและแมลงจึงเป็นสิ่งจำเป็นซึ่งต้องได้รับการดูแลและเอาใจใส่อย่างเพียงพอ

บอนไซต่างประเทศ บอนไซที่สั่งมาจากต่างประเทศนั้น ก็ไม่ต่างจากต้นไม้ที่ขุดจากป่ามากนัก เนื่องจากก่อนการนำเข้าประเทศ ส่วนมากมักจะถูกล้างรากก่อน แล้วห่อหุ้มรากด้วยมอสส์แห้งหรือสาหร่ายแห้ง รดน้ำให้ชุ่ม (ต้นไม้ทุกชนิดไม่ชอบให้รากฝอยอยู่ในอากาศ หรือหุ้มด้วยมอสส์โดยปราศจากดิน) ถึงจะนำเข้าประเทศได้ ข้อดีก็คือ ต้นไม้ถูกเลี้ยงอยู่ในกระถางบอนไซอยู่ก่อนแล้ว ฉะนั้นระบบรากของต้นไม้จะสมบูรณ์ และพร้อมที่จะเจริญเติบโตต่อไปถ้าหากได้รับการปลูกลงในกระถางอย่างดี ดินผสมที่ถูกต้อง ปัญหาใหม่มักจะขึ้นกับดินฟ้าอากาศเสียเป็นส่วนมาก ไม้แคระบางพันธุ์เป็นต้นไม้ที่ชอบขึ้นในเมืองหนาวโดยเฉพาะ เช่น สนจูปิเตอร์ ( Juniperus chinensis) สนดำ ( Pinus thunbergil) สนเข็มห้าใบ  Pinus parviflora)  ควินส์  (Chaenomeles sinesis) เมเปิล  (Acer paimatum)  อาซาเลีย  (Rhododendron indicum) ฯลฯ เป็นต้น ต้นไม้เหล่านี้เมื่อปลูกเลี้ยงในที่ๆอากาศเปลี่ยนแปลงมักจะอ่อนแอ มีความต้านทานโรคน้อย ในการปลูกเลี้ยงจะต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดียิ่งเท่านั้น ไม้แคระเหล่านี้จึงจะรอดอยู่ได้

การเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง ปักชำ เป้นวิธีที่ลงทุนน้อยกว่าสองข้อแรก แต่จะต้องมีความอดทน รอจนกว่าต้นไม้จะโตพอที่จะทำเป็นบอนไซ การทำบอนไซด้วยวิธนี้จะได้รับผลที่คุ้มค่า เนื่องจากสามารถดัดทรงต้น (FORM) ได้ตามความต้องการตั้งแต่ต้นไม้ยังเล็กๆ การทำกิ่งก้านสาขาก็สามารถกระทำได้อย่างถูกต้อง พันธุ์ไม้ที่ใช้ทำเป็นบอนไซนั้นมีอยู่มากชนิด  แต่ละชนิดก็มีความต้องการในเรื่อง ดินปลูก การให้น้ำ การให้ปุ๋ย ขนาดของกระถาง แสงแดดไม่เท่ากัน บางต้นเลี้ยงง่าย บางต้นเลี้ยงยาก บางต้นเหมาะที่จะทำเป็นบอนไซขนาดใหญ่  บางต้นเหมาะที่จะทำเป็นบอนไซขนาดเล็ก

ผู้เขียนได้พยายามศึกษาถึงนิสัย และความต้องการของต้นไม้เหล่านี้ พยายามรวบรวมรายละเอียดในวิธีการปลูกเลี้ยง และได้สอบถามถึงประสบการณ์ของผู้เลี้ยงบอนไซหลายท่านเท่าที่จะกระทำได้ ซึ่งวิธีการนี้อาจจะไม่เหมือนกับที่อีกหลายท่านได้ศึกษาค้นพบ เพราะฉะนั้น วิธีปลูกเลี้ยงบอนไซที่จะเขียนถึงนี้อาจจะไม่ใช่วิธีการที่ดีที่สุด  แต่คงจะมีประโยชน์บ้างวำหรับผู้เริ่มเลี้ยงไม้แคระอีกหลายๆท่าน


ตะโก



ดินปลูก    ตะโกที่ใช้ทำบอนไซเป็นต้นไม้ที่ขุดมาจากป่าทั้งหมด ไม่นิยมตอนกิ่งหรือเพาะเมล็ด เนื่องจากเจริญเติบโตช้า โดยธรรมชาติแล้วตะโกจะขึ้นในที่ดอน ไม่มีน้ำขัง ดินตุ้มที่ขุดมานั้นก็มีปุ๋ยและแร่ธาตุอยู่ไม่มากนัก ฉะนั้นเมื่อเปลี่ยนดินควรจะปรับปรุงดินในกระถางให้ใกล้เคียงกับธรรมชาติและให้มีอินทรียวัตถุ ดินที่นำมาปลูกควรจะเป็นดินร่วนหรือดินจากท้องร่องสวนตากให้แห้ง ดิน 7 ส่วนผสมใบไม้ผุ 3 ส่วน หรือใช้ดินลูกรังผสมกับปุ๋ยคอกในอัตราเดียวกันก็ใช้ได้


การเปลี่ยนดิน  ตะโกเป็นไม้ที่มีการแตกรากช้ากว่าพันธุ์ไม้บอนไซทั่วๆไป ระยะเวลาของการเปลี่ยนดินของตะโกขึ้นกับปริมาณดินในกระถาง ถ้าหากดินในกระถางมีปริมาณมากควรเปลี่ยนดินทุกๆ 3-4 ปี ถ้าหากเป็นไม้จิ๋วควรเปลี่ยนดินทุกๆ 1-2 ปี หรือจะสังเกตได้จากการแตกกิ่งก้านของต้นไม้ เมื่อตะโกได้รับการดูแลอย่างดีแล้ว ตะโกจะให้รายละเอียดของกิ่งก้าน และใบเพิ่มขึ้นมาก ขณะเดียวกันรากก็จะวิ่งวนอยู่ที่ก้นกระถางมากเช่นกัน ถ้าหากทิ้งไว้นานไป ตะโกมักจะทิ้งกิ่งและเหลือปริมาณกิ่งน้อยลง ใบมีจำนวนน้อยลง แต่จะแตกใบใหญ่ขึ้น ถ้ายังทิ้งไว้ต่อไปอีกใบจะเริ่มซีดเป็นสีเหลือง เนื่องจากรากไม่สามารถหาอาหารเลี้ยงใบได้เพียงพอ
               การเปลี่ยนดินไม่ควรล้างรากตะโกถ้าไม่จำเป็น เนื่องจากรากฝอยของตะโกบอบบางขาดง่าย และมีประการหนึ่งตะโกไม่ชอบให้รากอยู่ในอากาศ คนโบราณบอกว่าจะทำให้รากปวดแสบปวดร้อน และจะทำให้รากแห้งโดยง่าย ฉะนั้นวิธีที่ดีแล้วควรจะให้ดินหุ้มรากอยู่เสมอในขณะเปลี่ยนดิน โดยการใช้มีดที่คมเฉือนดินรอบต้นออก และเฉือนดินก้นกระถาง (ส่วนมากมักจะมีแต่ราก) ประมาณ 1-2 นิ้ว ให้ดินเหลือยู่ประมาณ 2 ใน 3 และในขณะที่เฉือนดินควรระวังอย่าให้ดินที่ติดต้นนั้นแตกร้าว ใช้กรรไกรบอนไซตัดแต่งรากที่โผล่ออกมาจากดินให้เรียบร้อย เสร็จแล้วเด็ดใบออกให้หมด รองก้นกระถางด้วยกรวดขนาดเล็ก หนาประมาณครึ่งนิ้ว ถ้ากระถางเล็กให้ลดลงตามส่วน ใส่ดินผสมรองก้นกระถางด้วยดินที่เตรียมไว้ วางตะโกที่แต่งดินไว้เรียบร้อยแล้วลงไป นำดินผสมหรือดินลูกรังใส่รอบๆตุ้มดินจนเต็มกระถาง รดน้ำให้ชุ่ม แล้วนำตะโกที่เปลี่ยนดินเรียบร้อยแล้วไปวางไว้ในที่ร่มรำไร จนกว่าตะโกจะแตกใบ แล้วนำออกเลี้ยงกลางแจ้งตามปกติต่อไป


การให้ปุ๋ย   การให้ปุ๋ยตะโกนั้นแตกต่างกันออกไป ปกติแล้วควรจะให้ปุ๋ยเคมีอย่างเจือจางหรือให้ปุ๋ยคอกประมาณ 2-3 เดือนต่อหนึ่งครั้ง และควรงดการให้ปุ๋ยในฤดูหนาว เนื่องจากตะโกเป็นต้นไม้ที่ที่มีการหยุดพักการเจริญเติบโตในฤดูหนาว ถ้าหากเป็นไม้จิ๋วอาจจะสามารถรดปุ๋ยได้บ่อยกว่าที่กล่าวมาแล้ว
การดูแลทั่วไป  ตะโกเป็นต้นไม้ที่ทนแล้งอยู่ในกระถางบอนไซพอสมควร ไม่ชอบน้ำขังควรรดน้ำวันละประมาณ 2 ครั้ง เช้า-เย็น สามารถตั้งอยู่กลางแดดได้ตลอดวัน ถ้าเป็นตะที่ปลูกในกระถางเล็กๆควรรดน้ำ 3 ครั้งต่อวันและตั้งอยู่ในที่ๆมีแดดเช้าครึ่งวันก็เป็นการเพียงพอ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น