วันอังคารที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ขนาด (Size) เช่น สวนถาด สวนหย่อม สวนหญ้า สวนสาธารณะ เป็นต้น
รูปร่าง (Form)
1. แบบรูปทรงเรขาคณิต (Formal) คือ การจัดโดยอาศัยรูปทรงเรขาคณิตต่าง ๆ มีการแสดงออกของเส้นตรง ซึ่งเป็นเส้นนำสายตาให้มุ่งตรงไปยังจุดเด่นที่ต้องการ (Strong Axial Design) และเส้นนี้จะแสดงความรู้สึกว่า บริเวณด้านซ้าย และขวามีความเท่า ๆ กัน (Balance) คือด้านซ้ายและด้านขวาเหมือนกันทุกประการ การจัดสวนแบบนี้เหมาะกับบ้านทรงยุโรป ประเภทกรีก โรมัน และบริเวณมุมเล็ก ๆ ในพื้นที่จำกัด หรือในบริเวณส่วนด้านหน้าของหน่วยงานราชการ และบริษัทต่าง ๆ การจัดสวนประเภทนี้จะดูเป็นระเบียบเรียบร้อย แต่การดูแลรักษาค่อนข้างสูง เพราะต้องตัดแต่งต้นไม้ให้เป็นรูปทรงเรขาคณิตอยู่เรื่อย ๆ
2. แบบธรรมชาติ (Informal) คือ การจัดใช้เส้นอิสระ (Free Form) มักเป็นโค้งรูปตัว "S" ดูเป็นธรรมชาติ อ่อนช้อยไม่เป็นเหลี่ยมมุม ต้นไม้ใช้รูปทรงตามธรรมชาติ ไม่ตัดแต่งเป็นรูปทรงเรขาคณิต การจัดสวนแบบธรรมชาตินี้เหมาะกับบ้านทั่ว ๆ ไป ทั้งที่มีเนื้อที่กว้างและเนื้อที่แคบ หรือสวนสาธารณะ และสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ
ความเป็นเอกลักษณ์ (Style) คือ สวนที่มีสไตล์การจัดสวนที่แสดงหรือบ่งบอกถึงความเป็นเอกลักษณ์ เช่น วัฒนธรรม/ศาสนา (สวนไทย สวนญี่ปุ่น สวนยุโรป สวนหิน) สภาพภูมิอากาศ (สวนป่า สวนธรรมชาติ สวนร้อนชื้น) ค่านิยม (สวนโมเดริน)
การนำไปใช้ประโยชน์ (User) คือ สวนที่สร้างขึ้นโดยกำหนดวัสถุประสงค์ที่แน่นอนทราบเป้าหมายของกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ เช่น สวนสมุนไพร สวนไม้ดอกไม้ประดับ สวนนก สวนผีเสื้อ สวนครัว เป็นต้น
วัสดุอุปกรณ์ในการตกแต่งสวนที่จำเป็น
การจัดสวนนั้นมิใช่ว่าเอาต้นไม้มาปลูก เป็นกลุ่มเป็นก้อน เป็นแถวเป็นแนว ให้เกิดความสวยงามเพียงอย่างเดียว แต่เราจะต้องคำนึงถึงวัสดุอุปกรณ์ ในการตกแต่งสวนด้วย ว่าจะเอาวัสดุอุปกรณ์ประเภทไหนอย่างไร มาตกแต่งสวนให้ดูสวยงามยิ่งขึ้น และจะทำอย่างไรให้คงความงามไว้ได้นาน โดยเริ่มจาก การจัดเตรียมพื้นที่การเลือกไม้ดอกไม้ใบ การใช้วัสดุปูพื้น การกั้นรั้ว การเลือกเฟอร์นิเจอร์ และการดูแลรักษา ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นมากต่อการจัดแต่งสวน
1. การเตรียมพื้นที่ คือ การทำให้บริเวณพื้นที่ที่จะจัดสวนให้เรียบโล่ง เหลือไว้แต่สิ่งที่เราจะใช้ประโยชน์ได้ในภายหลัง เช่นต้นไม้ใหญ่ ๆ หิน เนินที่มีอยู่เดิม การปรับพื้นดินทำโดยการรดน้ำจนเปียก แล้วจึงใช้ลูกกลิ้งบดให้เรียบ ถ้าบริเวณใดยุบเป็นบ่อให้เติมดินลงไป ระดับโดยรวมควรลาดเอียงไปยัง ทางท่อระบายน้ำ และลาดเอียงออกจากตัวอาคาร เก็บเศษวัสดุ ก้อนหิน หญ้า และวัชพืช ที่ไม่ต้องการทิ้งให้หมดวาดแปลนที่ต้องการลงบนพื้นที่ โดยใช้ปูนขาวโรยเป็นกำหนดจุดแนวสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ เช่น ลานพักผ่อน ทางเท้า ถนนเข้าบ้าน เป็นต้น กำหนดจุดที่จะปลูกต้นไม้ใหญ่ขอบเขตของแปลงที่จะปลูกไม้พุ่มและไม้คลุมดิน
การปลูกไม้ต้นใหญ่นั้นควรขุดหลุมให้มีขนาดใหญ่กว่าตุ้มดินที่หุ้มรากต้นไม้ไว้โดยรอบอีก 10 ซม. และลึกกว่าขนาดตุ้มดินอีก 10-15 ซม. โรยปุ๋ยสูตรเสมอ (16-16-16) รองก้นหลุมดินที่ขุดขึ้นจากหลุมให้แยกดินส่วนบน และส่วนก้นหลุมไว้ จากนั้นก็เอาดินส่วนบนมาสับพรวนจนเป็นก้อนเล็ก ๆ แล้วเอามาคลุกผสมกับดินที่ซื้อมาจากท้องตลาดในอัตราส่วน ดินบน:ดินผสม = 1:1 ใส่กลับลงไปในหลุมเป็นดินปลูก รดน้ำตามให้ชุ่ม ดินจะยุบตัวลง เติมดินปลูกและรดน้ำจนดินไม่ยุบตัวอีก ถ้าต้นไม้ที่ปลูกใหม่นั้นสูงมากหรือไม่สามารถตั้งตัวให้ตรงได้ให้ใช้ไม้ค้ำ ซึ่งอาจจะเป็นไม้ไผ่หรือไม้สนก็ได้ ส่วนการเตรียมพื้นที่ที่จะปลูกไม้พุ่ม และไม้คลุมดินนั้น ก็คล้ายคลึงกันกับการปลูกไม้ต้นใหญ่ แต่ขนาดหลุมจะตื้นกว่า
2. ต้นไม้ ต้นไม้ที่ใช้ในการตกแต่งสวนนั้นแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้
2.1 ไม้ต้น (Trees) เป็นไม้เนื้อแข็ง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้นใหญ่กว่าไม้พุ่ม ไม่ต้องอาศัยพาดพิงต้นไม้หรือวัสดุอื่นเพื่อดำรงตัว มีความสูงเกิน 6 เมตร มีอายุได้นานปี เช่น ตะแบก อินทนิน จามจุรี ราชพฤกษ์ ฯลฯ ซึ่งไม้ต้นเหล่านี้ สามารถใช้เป็นฉากหลัง ให้ร่มเงา หรือเป็นแนวรั้วกันลม ฯลฯ
2.2 ไม้พุ่ม (Shrubs) เป็นไม้เนื้อแข็งลำตัวตั้งตรง เป็นอิสระได้ไม่ต้องอาศัยต้นไม้ หรือวัสดุอื่นพาดพิง มีอายุได้นานหลายปี มีความสูงไม่มากนักการแตกกิ่งก้านมักจะไม่สูงจากพื้นดิน เช่น ชบา เข็ม ยี่เข่ง ยี่โถ ฯลฯ มักจะปลูกระดับแปลง จัดเล่นลายโดยใช้สี ปลูกเป็นรั้ว กั้น หรือบังตา และมักจะปลูกตามขอบทาง
2.3 พืชคลุมดิน (Ground Covers) คือพืชที่มีต้นเตี้ย สูงไม่เกิน 30 ซม. และมักจะปลูกเป็นกลุ่มก้อนติด ๆ กัน มีทั้งลำต้นตรงและลำต้นเตี้ย มีทั้งเป็นไม้เนื้ออ่อนอายุข้ามปี และเป็นพวกไม้ล้มลุก เช่น ผักเป็ดเขียว บานเช้า บานเย็น บัวสวรรค์ พลูด่าง เป็นต้น ใช้ปลูกประดับขอบแปลง จัดเล่นลายใช้สีหรือปลูกเป็นแปลงคลุมพื้นที่แทนหญ้า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น