วันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2554

มารู้จัก "ไม้ดัด" และ "เขามอ" กันดีกว่า

๑. ไม้ดัด
ไม้ดัด-เขามอ เป็นเครื่องประดับตกแต่งบ้านที่สวยงามที่สุด ยากจะหาสิ่งอื่นใดมาเทียบได้
ไม้ดัด คืออะไร ไม่ใช่ บอนไซ ไม้แคระของญี่ปุ่น อย่างที่คนทั่วไปรู้จักในสมัยนี้ ไม้ดัดแบบไทยมีวิธีทำเป็นศิลปะของไทย โดยนำไม้ธรรมชาติมาประดิษฐ์ตัดแต่ง พลิกแพลงให้สวยงามได้ตามปรารถนา กล่าวอย่างสามัญ ก็ว่า “ทำได้ตามใจคน”
เขามอ คือ เขาเล็กก่อในกระถางที่ใช้หินแต่ละชิ้นมาประดิษฐ์เข้าด้วยกัน คล้ายกับ เขากระถาง หรือ สวนถาด ของจีนและญี่ปุ่นอีก ๒ ชาติในเอเชียที่มีการเล่นกัน แต่ตามแบบของไทย กำหนดให้มีลักษณะคล้ายสิงห์หรือช้าง เมื่อก่อเสร็จแล้ว ประดับด้วยไม้ดัดไทย
ความงามที่สมบูรณ์ของศิลปะ ไม้ดัด-เขามอ ต้องพร้อมทั้ง ๓ อย่าง คือ ไม้ดัด เขามอ และกระถาง ตามประวัติการเล่นไม้ดัด ไทยมีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย และนิยมเล่นสืบต่อกันมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายโปรดเล่นไม้ดัดกันมาก ดังมีตัวอย่างให้เห็นที่พระบรมมหาราชวัง และวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ผู้อยู่ในรั้วในวัง ขุนนาง ข้าราชการ นิยมเล่นกันมาก ตลอดจนวัดวาอาราม และชาวบ้านทั่วไป ครั้นต่อมาความนิยมเสื่อมถอยลง จนเหลือเฉพาะครอบครัวที่เคยเล่นกันมา แต่ตามวัดใหญ่ๆ ก็ยังมีไม้ดัดงามๆ เช่น วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) และวัดคลองเตยใน แม้ในบางจังหวัดชาวบ้านก็ยังเล่นกันอยู่ ตำราทำไม้ดัดเพิ่งจะเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ ด้วยหลวงมงคลรัตน์ (ช่วง ไกรฤกษ์) ได้รจนาคำโคลงจากหลักเกณฑ์ที่เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีทรงกำหนดไว้มี ๙ แบบ กล่าวโดยสังเขป คือ
๑. ไม้ขบวน เป็นต้นตรงหรือคดเล็กน้อย ดัดให้กิ่งวกวนขึ้นไปเป็นกระบวนอีกนัยหนึ่งเรียกว่า ไม้ยอดแหลมทำ ๕ ๗ หรือ ๙ ช่อก็ได้
๒. ไม้ฉาก ลำต้นตรงหักให้เป็นมุมเหลี่ยมอย่างฉากไม้ที่ใช้บังประตูก็ได้ กิ่งควรหักเป็นฉากด้วยจึงจะสมชื่อ
๓. ไม้หกเหียน สัณฐานของกิ่งต้องหกห้อยลงมาก่อน หันเหียนไปรอบต้นแล้วกลับหัวขึ้นให้ตรงกับคำว่า “หกเหียน”
๔. ไม้เขน มีกิ่งสำคัญ ๓ กิ่ง ลงล่าง ๑ กิ่ง ไปทางข้าง ๑ กิ่ง ข้างบน ๑ กิ่ง ต่างทิศกันไปอย่างท่าเต้นเขน หรืออีกนัยหนึ่ง ดุจกวางเหลียวหลัง9"
๕. ไม้ป่าข้อม ลักษณะต้นตรงตลอดถึงยอด ต้องมีกิ่งรอบหุ่นเป็นพุ่มกลมช่องไฟงดงามสม่ำเสมอกำหนดไว้ให้มี ๙ ช่อ
๖. ไม้ญี่ปุ่น คล้ายไม้แคระของญี่ปุ่นลักษณะคือ โคนใหญ่ปลายเรียวต้นตรงปลายเอนก็มีปล่อยกิ่งกระจายไปตามที่เห็นงามอย่างไม้ธรรมชาติ แต่จับช่อแบบไม้ดัดไทย๗. ไม้กำมะลอ ต้นตรงขึ้นไปตามส่วนแล้วดัดหักหุ่นวกเวียนให้ยอดลงเรียกว่าไม้กำมะลอ คือไม่ใช่ของจริงเพราะต้นไม้จริงต้องชี้ฟ้า
๘. ไม้ตลก เป็นไม้ชนิดที่รากขึ้นมาพ้นดิน หัวโต เอารากทำต้น คดงอ เป็นไม้โขลกเขลกไม่เรียบร้อยอย่างคนทำตลก
๙. ไม้เอนชาย มีต้นขึ้นมาข้างๆ มากกว่าขึ้นข้างบนคล้ายต้นไม้ขึ้นริมตลิ่งมีรากยึดดินได้ข้างเดียว ถ้ามีต้นขึ้นมาพ้นดินแล้วจึงแต่งหุ่น (คือส่วนที่มีกิ่งต่อจากลำต้น) ให้เอนส่งยอดขึ้นไป ก็เป็นหุ่นเอน
ไม้ดัดทั้ง ๙ แบบ อาจดัดยักเยื้องกันได้บ้าง โดยไม่ให้เสียรูปทรงตามแบบ ควรทำให้งามตามแบบ ควรทำให้งามตามลักษณะของต้นไม้เป็นดีที่สุด การดัดควรทำอย่างประณีต ใจเย็น พยายามค่อยแก้ค่อยทำไปให้เพลิดเพลิน นับว่าเป็นยอดของการเล่นต้นไม้ทั้งหลาย พันธุ์ไม้ที่นำมาทำไม้ดัด เช่น ตะโก ข่อย โมก มะขาม
๒. เขามอ ไม้ดัด และเขามอ เป็นเครื่องประดับตกแต่งบ้านที่สวยงามที่สุด ยากจะหาสิ่งอื่นใดมาเทียบได้ ไม้ดัดและเขามอ เป็นศิลปวัฒนธรรมไทยของไทยที่กำเนิดคู่กันมาแต่โบราณ
เขามอนี้ได้มีการเล่นกันมานานพอๆ กับไม้ดัด มีตำรา แบบก่อ แบบทำเช่นเดียวกัน ผู้ที่ได้รับยกย่องมากที่สุดคือ หม่อมราชวงศ์เชย กุญชร (ท่านมีฉายาว่า คุณใบ้) ฝีมือเขามอก่อในกระถางของท่านยังตกค้างอยู่ตามบ้านที่เล่นตะโกดัดอยู่จนทุกวันนี้ เช่น บ้านพลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช การก่อเขามอ เป็นศิลปประณีตที่ต้องใช้ทั้งความรู้ความชำนาญและฝีมือมิใช่สักแต่เอาก้อนหินมาปะติดปะต่อกันเข้าตามบุญตามกรรม แต่จะต้องเพ่งพิศท่าทีตกแต่งให้เข้ารูปเข้าแบบลดหลั่นกันเป็นชั้นเชิง หินที่จะก่อเขาได้ตามแบบไทย ต้องใช้หินทะเลมีร่องริ้วที่ปัจจุบันหาไม่ได้แล้ว ต้องใช้หินประเภทอื่นจากทะเลหรือภูเขา จึงทำให้เขามอแบบไทยมีลักษณะต่างไปจากเดิม ผู้ที่มีฝีมือในการทำเขามอได้อย่างงดงาม อีก ๓ ท่าน คือ พระยาปริมาณสินสมรรถ (จีบ โชติศาลิกร) พลตรี พระยาพิชัยรณรงค์สงคราม (ทองดี จารุทัต) และ พระยามไหสวรรย์ (กอ สมบัติศิริ) ท่านมีผลงานมากมายเป็นมรดกตกทอดมาถึงลูกหลานจนกระทั่งทุกวันนี้ ไม้ดัด และเขามอ เป็นศิลปะที่ไทยนำมาผสมผสานกันให้เกิดความงดงาม เป็นลักษณะเฉพาะของไทย โดยล้อเลียนธรรมชาติที่เป็นต้นแบบแห่งศิลปะ การทำไม้ดัดมิได้ยากและใช้เวลามากอย่างที่คนทั่วไปเคยเข้าใจ ถ้าเกิดความสนใจ ก็จะสามารถเรียนรู้และลงมือทำได้ทันทีประเดี๋ยวนี้
การทำไม้ดัด ก่อเขามอ เป็นงานอดิเรกของผู้ใหญ่สมัยก่อน แต่ก็เหมาะสำหรับบุคคลทั่วไปหรือแม้แต่เยาวชนด้วย เพราะเป็นงานสร้างสรรค์ที่ต้องคิดประดิษฐ์ทำ เหมือนงานศิลปะอื่นๆที่ช่วยให้เกิดความรู้สึกเพลิดเพลินโน้มน้าวจิตใจให้คิดแต่สิ่งดีงาม อันเป็นคุณสมบัติที่น่าสรรเสริญ ผู้ที่สนใจอยากจะลองเล่นไม้ดัดก่อเขามอ ควรเริ่มเรียนรู้หลักเกณฑ์ก่อนบ้าง แล้วลงมือทำตามจินตนาการของตน ไม่นานนักก็จะได้ประสบการณ์ และสนุกกับงานนี้ ขณะเดียวกัน ก็เป็นการช่วยอนุรักษ์ศิลปะของไทยไว้มิให้สูญหายไปอย่างน่าเสียดาย เขามอก่อด้วยหินธรรมชาติ การก่อเขามอเป็นการช่างศิลปะประเภทหนึ่งที่เป็นงานอดิเรก เครื่องตกแต่งเพื่อชมเล่นคู่กับการทำไม้ดัดของชาวไทยมาแต่โบราณ ความนิยมมิใช่เฉพาะแต่ภายในพระราชวัง และตามบ้านเรือนผู้มีฐานะเท่านั้น วัดวาอาราม และบ้านสามัญชนทั่วไปก็นิยมเล่นอย่างเดียวกัน การก่อเขา มิใช่เพียงจะต้องใช้ฝีมือของผู้ก่อเท่านั้น แต่จะต้องอาศัย “หิน” ที่นำมาใช้ประดิษฐ์ทำด้วยจึงจะได้เขามอที่งดงาม หินที่ใช้ก่อเขา หินที่ใช้ในการก่อเขามอรุ่นเก่า คือสมัยตอนปลายกรุงศรีอยุธยาถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พบหลักฐานจากร่องรอยที่เคยก่อเขามอในพระราชวังหลวง ว่าเป็นชนิด “หินฟองน้ำ” แต่นักเล่นก่อเขาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖ เป็นต้นมานิยมใช้หินจากชายหาด โดยเฉพาะหินจากเกาะลิ้นกลางทะเล ที่อยู่ไม่ไกลจากเกาะสีชังในอ่าวไทยนี้เอง เรียกว่า “หินซาก” มีลักษณะเป็นริ้วร่อง ลวดลายสวยงามตามธรรมชาติ สีเทาเขียวคล้ำคล้ายน้ำทะเลไทย หินประเภทนี้ใช้ก่อเขามอได้สวยงามมาก เขามองามๆ ก่อแบบไทยฝีมือเก่ายังมีเหลืออยู่ให้ชมตามบ้านของผู้ที่เคยเล่นกันมาในอดีต สมัยปัจจุบันผู้ที่ทำเขากระถางส่วนใหญ่ไม่รู้จักเขามอแบบไทย จึงตกแต่งเป็นแบบต่างๆ โดยใช้ “หินกาบ” ที่หาได้ตามภูเขาในจังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี และเพชรบุรี ชนิดของหินที่นำมาใช้ในก่อเขาดังกล่าวมานี้ เป็นความรู้ของผู้เล่นในการก่อเขาทั่วไป และส่วนใหญ่ก็มิได้สนใจที่จะรู้ให้ยิ่งไปกว่านี้ เพราะมุ่งแต่ในเชิงงานประดิษฐ์แต่งมากกว่า ผู้เขียนได้เคยจัดนิทรรศการแสดงไม้ดัด-เขามอ ที่งานสวนหลวง ร.๙ และงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ที่อุทยานรัชกาลที่ ๒ ที่สมุทรสงคราม โดยประสงค์ที่จะให้ผู้สนใจได้เรียนรู้จักหินที่ใช้ก่อเขาให้ดียิ่งขึ้น จึงได้นำตัวอย่างหินธรรมชาติที่ใช้ในการก่อเขามอแบบไทยมาแสดงเทียบเคียงให้ ชม นอกจากนี้ ยังได้นำหินนานาชนิดที่คนไทยใช้ก่อเขา ตกแต่งเป็นแบบต่างๆ ดังที่เห็นวางจำหน่ายอยู่โดยทั่วไปในขณะนี้พร้อมกับหินที่มีความงามอย่างน่าพิศวงตามธรรมชาติที่มีอยู่ในประเทศไทยของเรามาให้ชมด้วย เพื่ออาจจะช่วยให้เกิดความคิดนำมาประดิษฐ์เป็นงานศิลปะอื่นๆ ต่อไป จึงนำความรู้เรื่องหินมาอธิบายไว้ด้วย ดังนี้ ธรรมชาติของหิน นักธรณีวิทยาจำแนกหินออกเป็น ๓ ประเภท คือ หินอัคนี หินชั้นหรือหินตะกอน และหินแปร หินอัคนี เกิดจากการเย็นตัว และแข็งตัวของหินหลอมเหลวละลายที่ร้อนจัด ซึ่งเรียกว่า หินหนืด เมื่ออยู่ภายในเปลือกโลกเรียกว่า “แมกมา” และเมื่อผุดพ้นออกมาบนผิวโลกเรียกว่า “ลาวา” หินอัคนียังมีส่วนประกอบของแร่ต่างๆ หลายชนิด หินชั้นหรือหินตะกอน เกิดจากหินชนิดต่างๆ ผุพังทำลายตัวแตกย่อยเป็นเศษหิน แล้วถูกแรงน้ำ แรงลม หรือหิมะ พัดพาไปตกจมเป็นหินตะกอน จะทับถมกันเป็นชั้นๆ หินชั้นอีกแบบหนึ่งเกิดจากสารที่ละลายตัวได้ไปสะสมในบริเวณใดที่มีการระเหยสูงจะเกิดเป็นเกลือแร่ชนิดต่างๆ ก็เป็นหินชั้นเหมือนกัน หินแปร เกิดจากหินอัคนี หรือหินชั้นได้รับความร้อนและแรงกดดันสูงมาก จนเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นหินชนิดใหม่เรียกว่าหินแปรแนะนำการก่อเขาแบบไทย ขออัญเชิญนามของผู้ได้รับยกย่องว่าเป็นผู้วางแบบอย่างเขามอไทยบางท่าน ซึ่งล้วนแต่เป็นบุคคลที่มีอายุระหว่างรัชกาลที่ ๕ ถึงรัชกาลปัจจุบัน คือ หม่อมราชวงศ์เชย กุญชร (คุณใบ้) พระยาปริมาณสินสมรรถ (จีบ โชติศาลิกร) พระยาเขื่อนเพชรเสนา พระยาพิชัยรณรงค์สงคราม (ทองดี จารุทัต) พระยามไหสวรรย์ (กอ สมบัติศิริ) คำแนะนำโดยสังเขปของท่านมีดังนี้ การก่อเขามักจะตั้งหลัก ตั้งรูป และท่าทีไปต่างๆ กันแต่พอจะกำหนดความสูงต่ำได้ว่า ส่วนสูงไม่ควรเกินขนาดกว้างของกระถาง คือ ๑. วัดส่วนกว้างขอบนอกของกระถาง (เขาสูงหน่อย) ๒. วัดขอบนอกมาเพียงปากร่วมใน (พอดี) ๓. วัดเฉพาะร่วมใส (เตี้ยหน่อย) ดังนั้น ขณะตั้งรูปเขาที่จะก่อในกระถาง ควรวัดปากกระถางตามหลักเกณฑ์นี้ จะได้เขางาม รูปลักษณะท่าทีเขามอที่งาม นิยมท่าสิงห์ หรือคล้ายช้าง ตามที่ผู้ก่อจะกำหนดไว้ในใจก่อนตั้งรูปขึ้น เริ่มต้นด้วยการใช้แผ่นอิิฐหรือ กระเบื้องหนารองก้นกระถาง แล้ววางหินตั้งหลักบนนั้นด้วยซีเมนต์ เสร็จแล้วอาศัยความยาวของหินตั้งเป็นขาเรียวประกบขึ้นไปหาหัวเขา และติดต่อเติมให้รับกันเป็นสัดส่วน วิธีพอกแต่งหัวเขานิยมให้เบี้ยวเฉเป็นเหลี่ยมเป็นสันชะโงกเงื้อม ถ้าปะหัวกลมไม่งาม ใช้ไม่ได้ กระถางขนาดย่อมมักก่อ ๒-๓ มอ ถ้า ๒ มอก่อใหญ่ ๑ เล็ก ๑ ลูกใหญ่ท่าทีมีไหล่ลดหลั่นกันให้พองาม ลูกเล็กมักทำล้อเลียนลูกใหญ่ ถ้าก่อ ๓ มอ ใหญ่ กลาง เล็ก ควรตั้งลูกใหญ่ไว้ตรงกลาง และก่อ ๒ มอข้างละมุมกระถางให้มีไหล่ลดหลั่นลงมา การหันหน้าเขาจะเอียงไปทางซ้ายหรือทางขวา สุดแล้วแต่ผู้ก่อจะเห็นงาม จะพลิกแพลงอย่างไรก็ได้ เมื่อก่อเสร็จแล้วควรแต่งด้วยไม้ดัดหรือไม้ประดับ การก่อเขามอเป็นศิลปประณีต ต้องใช้ฝีมือ และความพินิจพิเคราะห์จึงจะทำได้ ผู้สนใจจะเริ่มต้นด้วยการดูแบบอย่างเขามอฝีมือดีๆ ก่อนก็ได้ เมื่อลงมือทำจนมีความชำนาญแล้วก็จะเกิดความคิดประดิษฐ์แต่งไปได้ เหมือนการทำงานศิลปะประเภทอื่น (ขอเชิญชมตัวอย่างลำดับการก่อเขามอตามคำอธิบายและเครื่องมือต่างๆ ที่นำมาจัดแสดงไว้) นิทรรศการเขามอที่เคยจัดแสดงมาแล้วพร้อมกับไม้ดัดวัฒนธรรม ก็เพื่อให้คนไทยได้รู้จัก และเกิดความเข้าใจว่า งานอดิเรกทั้งสองอย่างนี้ยังเป็นศิลปะของไทยที่ให้ความรู้ความเพลิดเพลินอยู่เสมอ   ผู้สนใจที่ลอง เริ่มเล่นโดยไม่ละทิ้งจนสามารถทำได้สำเร็จนำมาตกแต่งบ้านที่อยู่อาศัยได้อย่างสวยงามแล้ว ทั้งผู้ทำพร้อมครอบครัวก็จะเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจไปด้วยกัน กัทลี สมบัติศิริ เรียบเรียงจากหนังสือเรื่องไม้ดัด-เขามอ ของ พระยาปริมาณสินสมรรถ พลตรี พระยาพิชัยรณรงค์สงคราม และ พระยามไหสวรรย์ เสาวกุล สว่างจันทร์ วาดภาพ คัดจาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น