วันอังคารที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

รูปแบบการจัดสวนที่สวยงาม

การจัดสวนมีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน พอจะแบ่งลักษณะการศึกษาเป็น 2 ส่วน คือ
1. การจัดสวนในต่างประเทศ                     
                มนุษย์มีความผูกพัน อยู่กับธรรมชาติมาตั้งแต่กำเนิด โดยจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ที่เก่าแก่ที่สุดได้ บ่งบอกถึงความรักธรรมชาติของบรรพบุรุษของมนุษยชาติ  ดังจะเห็นได้ว่ามีสวนลอยแห่งกรุงบาบิโลเนียซึ่งพระเจ้าเนบูคัดเนสซาร์ (Nebuchadnezar) ทรงโปรดให้สร้างขึ้น ปลูกประดับด้วยไม้ดอกอย่างสวยงามบนปราสาทแต่ละชั้น เพื่อให้พระราชินีทรงผ่อนคลายความเหงา นับเป็นสวนลอย ที่ได้รับการยกย่องว่ามีความสวยงามมาก  ถือว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกชิ้นหนึ่งในยุคโบราณ และต่อมาการสร้างสวนลอยแบบนี้ได้แพร่หลายไปยังอาณาจักรกรีกและโรมัน                             
     ภาพที่ 1  สวนลอยแห่งกรุงบาบิโลเนีย       ที่มา : การจัดสวน ของพรรณเพ็ญ ฉายปรีชา           
ในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่สวนพักผ่อนได้รับการส่งเสริมโดยมีหลักการว่าสวนพระพุทธศาสนาจะต้องไม่อยู่ใกล้เมืองหรืออยู่ไกล เมืองเกินไปมีทางเข้าทางออกสวนสะดวกเพื่อที่จะให้พุทธศาสนิกชนเข้าไปเคารพสักการะบูชาทำพิธีทางศาสนาได้ง่ายอีกทั้งไม่วุ่นวายเมื่อมีเสียงรบกวน ในยามกลางวันและเงียบสงัดในยามกลางคืน เหมาะแก่การหาวิเวกไตร่ตรองธรรม สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชของอินเดียได้ส่งเสริมให้มีการสร้างสวนพักผ่อนในเมือง  ตลอดจนปลูกไม้ร่มเงาประดับถนน กษัตริย์ของอินเดียให้การสนับสนุนการสร้างสวนพักผ่อนมาโดยตลอด  นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 6 ไปจนถึงศตวรรษที่ 14 สวนตกแต่งจึงเปลี่ยนรูปแบบไปบ้างเพราะเป็นสวนในยุคของกษัตริย์เชื้อสายชาวมองโกล สวนมองโกลมีลักษณะพิเศษคือ จะเลือกสถานที่ใกล้แม่น้ำ หรือเนินเขา หรือในพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำนิ่ง  สร้างสวนพักผ่อนมีรูปร่างเป็นสี่เหลี่ยม หรือสี่เหลี่ยมผืนผ้า ปลูกไม้ดอก ไม้พุ่มและไม้ร่มเงาขนาดใหญ่ พืชที่ปลูกส่วนมากดอกจะมีกลิ่นหอม เช่น กุหลาบ มะลิ พร้อมทั้งมีกำแพงล้อมรอบ
    ภาพที่ 2 สวนอินเดีย ที่มา : การจัดสวน ของ พรรณเพ็ญ ฉายปรีชา
สวนฟาโรห์ในอียิปต์เป็นสวนพักผ่อนที่รวบรวมพืชพรรณต่าง ๆ มากมายหลายชนิด  กษัตริย์ Ramses ที่ 3 ได้สั่งสร้างสวนศักดิ์สิทธิ์เพื่อใช้เป็นสถานที่บวงสรวงเทพยดาขึ้นถึง 514  แห่ง ขณะที่กรีกสร้างสวนพักผ่อนเป็นขั้น ๆ แบบขั้นบันได  โรมันได้สร้างสวนปลูกพืชตกแต่งเป็นรูปร่างเลียนแบบรูปสิ่งก่อสร้างและรูปสัตว์ ปลูกพืชใส่ภาชนะขนาดใหญ่ ขุดสระประดิษฐ์   มีน้ำพุกลางสระ ตลอดจนปลูกพืชเป็นกลุ่ม เช่น สน มาเปิ้ล โอค ปาล์มและไม้พุ่มอีกมากชนิดด้วยการสร้างเป็นทางคดเคี้ยววกวนไปมา ชวนให้เพลิดเพลินเจริญใจ  สวนอาหรับมีสระน้ำ น้ำพุ ไม้ผล ไม้พุ่มชนิดที่ยามออกดอกส่งกลิ่นหอม สร้างในบริเวณโอเอซีส  สวนอาหรับมีอิทธิพลแพร่เข้าไปในยุโรป เช่น สวน Alhambra ที่มีชื่อเสียงในเมือง Granada ประเทศสเปน  ซึ่งสวนดังกล่าวยังเป็นต้นแบบ ที่นำไปสร้างในรัฐแคร์ลิฟอร์เนีย และรัฐอริโซนา สหรัฐอเมริกาในช่วงศตวรรษที่ 14-16 ซึ่งเป็นสมัยที่มีการฟื้นฟูศิลปวิทยาในประเทศอิตาลี ได้มีสวนตกแต่งแบบใหม่ขึ้น ซึ่งประกอบด้วย กำแพงทางเดิน สระน้ำและสายน้ำ แต่พืชมิได้มีบทบาทเด่นในสวนลักษณะนี้ รูปแบบสวนพักผ่อนประเภทนี้ได้แพร่ไปในประเทศฝรั่งเศสและออสเตรเลีย   ทำให้เกิดสวนที่มีชื่อเสียงในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14
   ภาพที่ 3 สวนโรมัน (ด้านซ้าย) ที่มา : การจัดสวน ของพรรณเพ็ญ ฉายปรีชา
          ในพระราชวังแวร์ซายส์ ก่อให้เกิดต้นแบบสวนพักผ่อนที่จัดเป็นสัดส่วน หรือสวนประดิษฐ์ (Formal garden) ขึ้น
สวนอังกฤษมีพืชพรรณหลายประเภทได้แก่ ผัก ไม้ผล ไม้ดอก ไม้เลื้อยและไม้เกาะกำแพง ซึ่งแตกต่างไปจากสวนพักผ่อนได้สัดส่วนในยุโรป
ภาพที่ 4 สวนประดิษฐ์ (ด้านล่าง) ที่มา : การจัดสวน ของพรรณเพ็ญ ฉายปรีชา
                สวนจีนและสวนญี่ปุ่นเริ่มสร้างกันมานานก่อนคริสต์ศักราช  สวนเหล่านี้แสดงถึงความรักธรรมชาติของมนุษย์ในถิ่นแถบนี้ สวนพักผ่อนในญี่ปุ่นจะเป็นภูเขาจำลองและสายน้ำ แต่จัดสร้างในเนื้อที่เล็ก ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นสวนพักผ่อนส่วนบุคคลหรือในวัด
                ในยุคปัจจุบัน   ศิลปะการตกแต่งสถานที่ให้มีวิวทิวทัศน์สวยงาม  มีบทบาทที่สำคัญต่อการ พัฒนาสถานที่พักอาศัย สถานที่ราชการ เมืองและนคร สำหรับการตกแต่งสถานที่ (Landscape architecture)  หมายถึงการพัฒนา การวางแผน และการจัดระเบียบพืชพรรณบนพื้นที่ส่วนบุคคลหรือพื้นที่สาธารณะเพื่อส่งเสริมให้เกิดความสวยงามสูงส่งด้วยรสนิยม เต็มไปด้วยศิลปะ เสริมสร้างความรื่นรมย์ในยามปฏิบัติงานและสนุกเพลิดเพลินในยามพักผ่อน   การตกแต่งสถานที่อาจหมายรวมถึงการจัดสวนพักผ่อน (Landscapegardening)                                                                 
  ภาพ 6 สวนจีน ที่มา:การจัดสวน ของพรรณเพ็ญ ฉายปรีชา
 ภาพที่ 5 สวนญี่ปุ่น ที่มา : การจัดสวน ของพรรณเพ็ญ ฉายปรีชา
2. การจัดสวนในประเทศไทย                     จากบันทึกเรื่องราวสมัยสุโขทัยพระเจ้ารามคำแหงมหาราช ได้ทรงปลูกป่าไม้ตาลและทรงโปรดให้ปลูกป่าหมาก ป่าพลู ป่าพร้าว ฯลฯ หรือเรียกว่า สวนผลหมากรากไม้ ในยุคนั้นพืชหลายชนิดที่ได้ ตกทอดพืชพันธุ์ถึงปัจจุบัน คือหมากสง ลาน พลู มะพร้าว มะม่วง มะขามและตาลโตนด
                ต่อมาถึงสมัยอยุธยา  ครั้งรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  ยุคสร้างราชธานีลพบุรี ได้มีการเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส ได้ส่งแบบแปลนสวนพระราชวังแวร์ซายส์ มาเป็นแบบในการวางผังการจัดสวนที่พระราชวังลพบุรี พระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ ซึ่งพระองค์ได้ทรงมอบให้เจ้าพระยาวิชาเยนทร์เป็นผู้รับผิดชอบ โดยมีชาวมุสลิมเป็นผู้ดำเนินการปลูกสร้าง เรื่องราวนี้พบจากบันทึกจดหมายเหตุของสุลต่านแห่งอาหรับ ที่มาเจริญสัมพันธไมตรีในยุคนั้น    สมัยอยุธยานอกจากได้รับอิทธิพลจากยุโรปแล้ว ก็ยังมีอิทธิพลจีนและญี่ปุ่นอีกด้วย   สำหรับอิทธิพลจีนจะเห็นได้จากถ้วยโถโอชาม เจดีย์ เขามอ (ถะมอ) ต้นไม้ที่ใช้แต่งในยุคนั้นส่วนใหญ่ก็จะเป็นไม้ดัด ไม้แคระ และไม้ตัดแต่งพุ่ม เช่น พวกตะโก ข่อย  แก้ว มะขาม ไทร  สำหรับอิทธิพลญี่ปุ่นที่เข้ามาในยุคนั้น ไม่ได้เป็นลักษณะสวนแต่เป็นอุปกรณ์ตกแต่งสวน เช่น ตะเกียงหิน สะพาน ซุ้มประตูแบบญี่ปุ่น เป็นต้น โดยยามาด้า หรือออกญาเสนาภิมุข เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการและท่านได้จัดไว้เองด้วย
                ในสมัยรัตนโกสินทร์ เริ่มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 เป็นต้นมา  ได้รับอิทธิพลจากจีนต่อเนื่องมาจากสมัยอยุธยา ลักษณะเป็นสวนภูเขา (สวนภูเขาจำลอง) ซึ่งเรียกกันว่า เขามอ หรือ ถะมอ เป็นการนำหินมาจัดประกอบเป็นภูเขา อาจมีน้ำตก บ่อน้ำ ลำธาร ประกอบด้วยสะพาน เก๋งจีน ตุ๊กตาหินและต้นไม้ ต้นไม้ส่วนใหญ่ก็จะใช้ไม้ดัดเช่น ตะโก ข่อย มะสัง มะขามแก้ว  ไม้ประดับในยุคนั้นยังมีไม่มากนัก เช่น บอนสี โกสน และหน้าวัว เป็นต้น ในรัชกาลที่ 3  ลักษณะสวนภูเขาหรือเขามอจะใหญ่โตกว่าสมัยรัชกาลที่ 2 เพราะในสมัยนั้นมีการขยายพระราชฐานโดยสร้างพระตำหนักเพิ่มขึ้นอีก มีการรื้อและปรับปรุงสวนเดิมตลอดจนสร้างสวนขึ้นใหม่ ตัวอย่างและร่องรอยการจัดสวนในต้นสมัยรัตนโกสินทร์ เราพอจะหาดูได้ในบริเวณพระบรมมหาราชวัง วัดพระแก้ว วัดโพธิ์ วัดสุทัศน์ วัดโปรดเกศเชษฐาราม วัดไพชยนต์พลเสพย์ วัดจอมทองหรือวัดราชโอรสา วัดเฉลิมพระเกียรติ์  วัดหนังบางขุนเทียนในอดีตมีไม้ดัดมากที่สุดวัดหนึ่ง  ในสมัยรัชกาลที่ 4 มีวัดพระปฐมเจดีย์ที่นครปฐม นำไม้ดัดมาปลูกลงดินแทนการปลูกในกระถาง ในสมัยรัชกาลที่ 5 การจัดสวนได้รับอิทธิพลมาจากประเทศต่าง ๆ มากมาย  ทั้งจีน อินเดีย ลังกา และยุโรป ในต้นรัชกาลมีการบูรณะวัดพระแก้ว ได้นำกล้วยพัดจากลังกามาปลูก และพระราชวังบางปะอิน ที่สร้างสวนและอาคารมีทั้งอิทธิพลจีน อินเดียและยุโรป   ที่สวนอัมพรจากรูปลักษณะของกระถางต้นไม้ กระถางบัว รูปปั้น  ก็เป็นอิทธิพล ยุโรปเช่นกัน
                เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่เราหารูปแบบสวนดั้งเดิมของไทยเป็นตัวอย่างให้ชนรุ่นหลังในปัจจุบันดูกันได้น้อยมาก เพราะส่วนใหญ่เสียหายหักพังไปหมด บางทีก็ถูกรื้อถอนเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นไป ถึงแม้สวนในปัจจุบันของเราที่มีจัดกันมากมาย ก็ยังไม่มีรูปแบบการจัดสวนที่บ่งบอกลักษณะได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของไทย เหมือนเช่นสวนจีน ญี่ปุ่น อังกฤษหรือฝรั่งเศส ที่มีรูปแบบเป็นเอกลักษณ์เฉพาะสามารถสื่อความหมายได้ว่าเป็นของชาติไหน  
                คนในสมัยเมื่อ 50-100 ปีที่แล้ว นิยมสร้างบ้านใต้ถุนสูง เนื่องจากน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ ต่อมาในสมัยหลังมีบ้านทรงปั้นหยาและอื่น ๆ ที่ได้รับอิทธิพลมาจากยุโรป หรือตะวันตก ใต้ถุนจะลดต่ำลงมากและถ้าเป็นบ้านผู้มีฐานะดีก็มักจะเป็นผนังก่ออิฐถือปูนประกอบผนังไม้บ้าง แต่ช่วงล่างหรือฐานรากอาคารจะเป็นปูนและนิยมก่อปิดมิให้เห็นส่วนที่เป็นใต้ถุน แต่เปิดช่องลมให้ระบายอากาศออกได้ การจัดแต่งบริเวณภายนอกบ้านก็มักจะปลูกไม้ผลหลังบ้าน เช่น มะม่วง  ขนุน ชมพู่ กระท้อน สาเก ละมุดและอื่น ๆ นอกจากไม้ผลแล้วก็มีพืชสวนครัวซึ่งนิยมปลูกไว้หลังบ้าน   ส่วนหน้าบ้านจะเป็นสวนพักผ่อนและจัดแต่งให้สวยงาม ระเบียงบ้านหรือชานเรือนก็นิยมจัดแต่งเช่นกัน   ต้นไม้ส่วนใหญ่ที่ใช้มักจะเป็นไม้ดัดซึ่งนิยมปลูกในกระถาง เพราะเหมาะกับสภาพบ้านเมืองเราที่น้ำท่วมเสมอ  ไม้ดอกนิยมใช้ไม้ดอกที่ส่งกลิ่นหอมและไม้ใบสีต่าง ๆ   การปลูกต้นไม้และการจัดแต่งก็เพียงปลูกให้มีระเบียบ  ดูแลให้เรียบร้อยสวยงาม ตามรสนิยมและความชอบส่วนตัว  ยังไม่มีรูปแบบที่ฉูดฉาดสะดุดตาอย่างในปัจจุบัน นั่นเป็นสภาพการจัดแต่งโดยทั่ว ๆ  ไปของชาวบ้าน ส่วนผู้มียศฐาบรรดาศักดิ์และฐานะร่ำรวยก็จะมีทุนทรัพย์ที่จะจัดหาพันธุ์ไม้ที่สวยงามและแปลกใหม่มาประดับนอกเหนือจากต้นไม้พื้นบ้าน ส่วนใหญ่ได้แนวคิดมาจากต่างประเทศ    ลักษณะการจัดบริเวณและสวนในระยะนั้นก็มักจะให้ตัวอาคารอยู่ชิดเนื้อที่ด้านหน้าบ้านมาก  มีถนนให้รถแล่นเข้าไปจากประตูรั้วหน้าบ้าน ผ่านเป็นวงเวียนมีลานหญ้าหรือสนามตรงกลางโดยถนนจะเลี้ยวโค้งไปจอดรถหน้าตึกหรือตัวบ้านได้เลย ก่อนจะมาเก็บในโรงรถ 
ภาพที่ 7  สวนสมัยเมื่อ 50-100 ปีที่แล้ว  ที่มา: การจัดสวน ของพรรณเพ็ญ  ฉายปรีชา
แต่ถ้าเนื้อที่แคบลงหน่อยก็จะทำถนนรถเข้าด้านข้าง และเลี้ยวโค้งไปจอดหน้าตึกได้ก่อนเข้าไปเก็บในโรงรถเช่นกัน  ต้นไม้ที่นิยมปลูกส่วนใหญ่นอกจากไม้ผลแล้ว ก็จะมีไม้ประดับประเภทปาล์ม เช่น หมากเขียว หมากแดง เต่าร้าง หมากค่อมหรือหมากนวล เป็นต้น ไม้ดอกหอม และไม้ใบสีก็นิยมกันมาก ไม้ดอกนิยมปลูกตามแนวถนน  ในยุคนั้นก็ยังมีไม่กี่ประเภทเช่น เข็ม บานชื่น  ดาวเรือง  ดาวกระจาย  แวววิเชียร  เบญจรงค์  แสยก  ลิ้นมังกร  ขาไก่หรือชาดัดเป็นต้น ไม้ดัดและไม้ประดับส่วนใหญ่นิยมปลูกในกระถางตั้งโชว์ตามแนวถนน มุมตึกหรือลานบ้านและชานเรือน กระถางที่นิยมใช้อาจเป็นกระถางลายคราม   ปูนปั้น หรือโอ่งมังกรที่มีลวดลายสวยงาม ส่วนที่เป็นลักษณะคล้ายวงเวียน อาจเป็นวงกลมหรือวงรี มักมีสนาม ประดับด้วยรูปปั้นหรือบ่อน้ำพุ ปัจจุบันอาจหาดูได้จากแถวถนนสาธร สุรวงศ์ สีลมหรือบางลำภู
                ต่อมา ได้มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงรูปแบบสวนของบ้านเรา โดยกลุ่มสถาปนิกและนักออกแบบ ซึ่งประมาณ 50 ปีที่แล้วมีอยู่ไม่ถึง 10 คน ได้เล็งเห็นว่าการแต่งสวน  ควรจะมีบทบาทและความสำคัญต่อตัวอาคารมากกว่านี้  ควรจะมีความเหมาะสมและเสริมสร้างชีวิตชีวาให้กับตัวอาคาร การพัฒนาเริ่มต้นจากการปรับปรุงรูปแบบสวนเดิมบางส่วน โดยนำเอาวัสดุอื่น ๆ มาใช้ประกอบ  เช่น หิน  กรวด  ขอนไม้ นำมาจัดเป็นองค์ประกอบร่วมกันต้นไม้และหญ้าที่มีอยู่เดิม ทำให้เกิดความสวยงามและน่าสนใจยิ่งขึ้น สวนในลักษณะนั้นเรียกว่าสวนหย่อม
ภาพที่ 8  สวนถาด  ที่มา: การจัดสวน ของพรรณเพ็ญ  ฉายปรีชา ซึ่งต่อมาได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายมาจนถึงปัจจุบัน และยังได้จัดให้มีการประกวดจัดสวนขึ้น ปัจจุบันได้พัฒนาเป็นสวนหิน สวน  น้ำ สวนประกอบน้ำ สวนป่า สวนทราย สวนกรวดและอื่น ๆ ตามสมัยนิยม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น